การวิเคราะห์การพูดกับตัวเองในระหว่างการคุยออนไลน์: หัวข้อวิจัยด้านจิตวิทยาสังคมภาษา

การวิเคราะห์คำพูด หรือ Conversation Analysis (เรียกสั้นๆ ว่า CA) เป็นศาสตร์ใหม่แขนงหนึ่งของสาขาภาษาศาสตร์และการสื่อสารระหว่างบุคคลที่ตอบคำถามหลักที่ว่า “คนเราคุยกันอย่างไรและทำอย่างไรถึงเกิดความเข้าใจขึ้น” เพราะสังคมจะเป็นสังคมได้นั้น สมาชิกในสังคมต้องพูดกันและสื่อสารกันเพื่อให้เกิดความเขาใจระหว่างกัน ในทางทฤษฎีข้อมูลที่ใช้ในวิจัย CA คือบทสนทนาที่คน 2 คนผลัดกันพูด (เรียกว่า Turn-Talking Systems) เพื่อทำอีกฝ่ายเข้าใจและโต้ตอบได้อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน โดยเน้นว่าบทสนทนาจะต้องมาจากบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติเท่านั้น โดยไม่ได้รับอิทธิพลและไม่ได้ถูกวางแผนโดยผู้วิจัย การสนทนาระหว่างเพื่อนตอนคุยกันทางโทรศัพท์หรือตอนที่สมาชิกในครอบครัวคุยกันระหว่างรับปะทานอาหารเย็น เป็นตัวอย่างบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ข้อจำกัดของข้อมูลของการวิจัย CA คือเราไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของผู้พูด เราเลยไม่รู้ว่าผู้พูดคิดนึกอะไรอยู่หรือคิดที่จะพูดอะไรออกไป หรือทำไมเขาถึงพูดออกมาอย่างนั้น เราเรียกสิ่งที่ผู้พูดคิดอยู่ในหัวว่า การสื่อการกับตนเอง (หรือบางสาขาเรียกว่า Intrapersonal Communication, Self-Talk, Private Talk, หรือ Inner Speech) การสื่อการกับตนเองจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ตามลำพัง, เมื่อเรากำลังคิดแก้ปัญหา, คิดไตร่ตรอง, หรือคิดตาม การสื่อการชนิดนี้เป็นสิ่งที่แสดงออกมาโดยอัตโนมัติ และภาษาที่เราพูดออกมาตอนการสื่อการกับตนเองมักจะสั้น เสียงต่ำ และเป็นวลีหรือประโยคสั้นๆ ส่วนใหญ๋เป็นประโยคที่ไม่สมบูรณ์ การสื่อการกับตนเองนั้นสามารถเกิดขึ้นโดยผู้พูดใช้เสียง (Private Speech)และไม่ใช้เสียง (Inner Speech) บางที่เราก็คุยกับตัวเองโดยที่ไม่ได้พูดอะไรออกมาเป็นเสียงให้ได้ยิน การพูดกับตัวเองโดยรวมไม่ได้รับความนิยมใน CA เพราะการเก็บข้อมูลนั้นยากมากหรือเกือบเป็นไปไม่ได้เลย

การศึกษาชิ้นนี้ได้มาจากการวิเคราะห์บทสนทนาของคนที่คุยออนไลน์ (Online Chats) มาเป็นเวลานานและการสนทนาได้เริ่มขึ้นและสิ้นสุดลงก่อนที่ผู้วิจัยจะเก็บข้อมูลเพราะว่าโปรแกรมคุยออนไลน์ได้บันทึกสิ่งที่คุยออนไลน์โดยอัตโนมัติ ผู้วิจัยเลยมั่นใจว่าข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่ปราศจากอิทธิพลจากผู้วิจัย เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าการคุยออนไลน์เป็นการสื่อสารที่ไวมาก โดยเฉพาะตอนที่มีผู้ร่วมสนทนามากกว่า 3 คนโดยที่ทุกคนสามารถพิมพ์ข้อความได้ตลอดเวลาไม่ต้องรอกัน คนที่คุยออนไลน์ต้องแข่งกับเวลาเพราะการพิมพ์นั้นช้ากว่าการพูดมาก คนที่คุยออนไลน์เลยต้องคิดไปด้วยพิมพ์ไปด้วยอย่างรวดเร็วหรือบางทีก็พูดตามไปด้วยขณะพิมพ์และบางทีก็เผลอพิมพ์ในสิ่งที่คิดหรือพูดลงไปในช่องสนทนา

คำถามต่อมาคือ เราในฐานะผู้วิจัยจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ผู้คุยออนไลน์พิมพ์ไปนั้นเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจที่พิมพ์ออกไปหรือว่าเป็นสิ่งที่เขาเผลอพิมพ์ในสิ่งที่คิดหรือพูดลงไปในช่องสนทนา ตัวบ่งบอกคือความสอดคล้องต่อเนื่องกัน (Conditional Relevance),ความซ้ำซ้อนด้านความหมาย (Full Repetition และ Almost Full Repetition), และหน้าที่ (Communicative actions) ของประโยค นั่นคือ ตอนที่คนคุยออนไลน์โดยเฉพาะตอนที่เขาต้องพิมพ์ข้อความที่ยาวอย่างต่อเนื่องนั้น บางช่วงของข้อความได้เกิดความซ้ำซ้อนด้านความหมายและหน้าที่ของประโยค ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าของประโยคได้พูดกับตัวเองระหว่างพิมพ์และเผลอพิมพ์ออกไป เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างจากข้อมูล A ถามในออนไลน์ว่า [wat u wana eat ladr??] B ได้ตอบกลับไปว่า [eat?wat?…foood? wanaa eatwat..had sushi.<.> try errr er no idea> chines?] Conditional Relevance บอกเราว่าประโยคของ A เป็นประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบและต้องเป็นคำตอบที่เกี่ยวกับอาหารเท่านั้น จะเห็นว่าในที่สุด B ตอบคำถามว่า chines (Chinese food) ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน แต่กว่า B จะตอบได้ได้มี Self-Talkเกิดขึ้นดังนี้ คำว่า [eat?] ถ้าเป็นการพูดต่อหน้า จะหมายถึงว่า B ได้ยินคำว่า [eat?] ไม่ชัดและได้ทวนเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ คำว่า [wat?] ถ้าพูดต่อหน้า จะหมายถึง B ไม่ได้ยินที่ A พูด ซึ่งทั้ง 2 คำอาจเป็น Other-repair initiator แต่ในทางออนไลน์นี้ทั้ง 2 คำไม่ได้เป็น Other-repair initiator เพราะ B เข้าใจที่ A พูด จะเห็นได้ว่า B ตอบได้ “relevant” กับสิ่งที่ถูกถาม  ถ้าเปรียบเทียบสิ่งที่ A พูด กับ B พูดตอนต้น [eat?wat?] ซึ่งซ้ำกันแต่การที่ B พูดซ้ำนั้นไม่มีผลกระทบต่อสิ่งที่ A จะพูดต่อมา แต่ 2 คำได้ถูกใช้เพื่อให้ B ได้มาซึ่งคำตอบในตอนท้าย ส่วนคำว่า [foood?]ของ B เป็นสิ่งที่ B สรุปสิ่งที่ได้ยินและจับใจความได้ในคำถามที่ต้องการคำตอบเกี่ยวกับอาหาร  [foood?]ยังช่วยให้ B คิดถึงคำตอบเพื่อให้เกิด Relevance ถ้าเปรียบเทียบ 2 ประโยค [wat u wana eat ladr??] ของ A และ [wanaa eatwat..] ของ B จะเห็นว่า 2 ประโยคนี้มีหน้าที่ที่ซ้ำกัน (เป็นคำถาม) คำถามคือทำไม B ต้องพูดซ้ำ คำตอบคือ ในชีวิตประจำวัน การพูดประโยคซ้ำ (Repetition) ทำหน้าที่เป็น Floor-holding device ที่ง่ายที่สุดที่ทำให้คนฟังไม่กล้าแย่งคิวพูด มันยังทำให้คนฟังรู้ถึงระดับของการมีส่วนร่วมในการสนทนาของผู้พูด (Participation) การพูดคำถามซ้ำหมายความว่าผู้พูดกำลังคิดถึงเรื่องที่จะตอบ เราเคยสังเกตุว่าตอนคนพูดคำถามที่ถูกถามซ้ำจะไม่มีการประสานสายตาเกิดขึ้นเพราะไม่ต้องการมีการร่วมของผู้ฟังในกิจกรรมนี้ (เพราะมันเป็นกิจกรรมส่วนตัว เราเรียกว่าเป็น Private Talk) ถ้าการพูดคำถามซ้ำในคุยออนไลน์หมายความว่าผู้พิมพ์กำลังคิดถึงสิ่งที่จะตอบ (จะตอบอะไร อย่างไร) เราเห็นว่าการการคุยออนไลน์ได้กลายมาเป็นทักษะที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการพึ่งพาอาศัยระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียน นอกจากนั้นการคุยออนไลน์ยังกระตุ้นให้เกิด Private Talk เพราะมันเป็นการสื่อสารที่เร็ว ขณะที่การพิมพ์เป็นสิ่งที่ช้ากว่าการพูด การที่ทำให้การพิมพ์เร็วเหมือนภาษาพูดต้องใช้การพูดเข้าช่วยตอนพิมพ์ (ไม่ว่าจะใช้ Inner Speech  หรือ  Private Speech) การคุยออนไลน์ครอบคลุมหลายหัวเรื่องที่ที่มีการใช้การคิดเข้าร่วม การใช้ Inner Speech  หรือ  Private Speech เป็นการลดภาระการทำงานของสมองตามที่กล่าวถึงหน้าที่ของการพูดกับตัวเองในย่อหน้าแรก