Wenwen Tian and Stephen Louw
องค์ประกอบสำคัญของการฝึกอบรมครูคือโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์จริงในการสอน ดังนั้นหลักสูตรการอบรมจึงมักประกอบด้วยส่วนของการฝึกสอนซึ่งครูฝึกสอนจะได้สอนจริงภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นที่เข้าใจกันว่าการฝึกสอนนี้อาจสร้างความกดดันให้กับครูฝึกสอนอย่างมากและเนื่องจากพวกเขายังคงอยู่ในกระบวนการการเรียนรู้การสอน ครูฝึกสอนอาจทำผิดพลาดหรือรู้สึกยังสับสนในช่วงของการฝึกสอน หลังการฝึกสอน อาจารย์ที่ปรึกษาจะจัดให้มีการประชุมเพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำกับครูฝึกสอน เดิมที ในการประชุมนี้อาจารย์ที่ปรึกษาจะเน้นให้คำแนะนำในส่วนข้อบกพร่องของการฝึกสอนเพื่อที่จะช่วยให้ครูฝึกสอนพิจารณาด้านที่ตนเองสามารถปรับปรุงได้ อย่างไรก็ตามการเน้นที่ข้อบกพร่องนี้อาจจะกระทบต่อความรู้สึกของครูฝึกสอนได้
หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหานี้คือการหาวิธีให้ครูฝึกสอนค้นหาจุดแข็งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว การเน้นที่จุดแข็งแทนจุดอ่อนจะช่วยให้ครูฝึกสอนได้พัฒนาการสอนโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการหมดกำลังใจจากสิ่งที่ผิดพลาด และนี่คือการใช้ระบบพี่เลี้ยงตามหลักการให้คำแนะนำจากจุดแข็งเป็นหลัก
การวิจัยนี้ศึกษาการใช้ระบบพี่เลี้ยงตามหลักการการค้นหาจุดแข็งวิธีหนึ่งที่เรียกว่า Appreciative Advising (AA) ตามหลัก AA อาจารย์ที่ปรึกษาจะดำเนินการตามชุดขั้นตอนและคุณสมบัติต่าง ๆ (ดูรูปที่ 1) เพื่อช่วยให้ครูฝึกสอนค้นหาจุดแข็งและใช้จุดแข็งนี้เพื่อการพัฒนาตนเองต่อไป การวิจัยที่ผ่านมาส่วนใหญ่สนใจการใช้ AA ในการดูแลให้คำปรึกษานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาในหลักสูตรบัณฑิตศึกษามักจะมีเวลาเป็นปีหรือนานกว่านั้นเพื่อช่วยให้นักศึกษาค้นหาจุดแข็งของตนเองและใช้จุดแข็งนั้นในการพัฒนาต่อสู่ความสำเร็จในงานวิชาการ ผู้วิจัยสนใจศึกษาว่า AA จะใช้ได้ดีกับหลักสูตรการฝึกอบรมครูหรือไม่ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษามักจะมีเวลาร่วมกับครูฝึกสอนเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น
เราได้ขอให้อาจารย์ที่ปรึกษาของหลักสูตรอบรมครูผู้สอนภาษาแบบเข้มข้นระยะเวลา 4 สัปดาห์เก็บบันทึกสะท้อนการให้คำปรึกษาแก่ครูฝึกสอนตามหลักการของ AA เรามีความสนใจเป็นพิเศษว่าเขาใช้วิธี AA ในการประชุมให้ความคิดเห็นหลังการฝึกสอนอย่างไร หลังจากการใช้ AA กับครูฝึกสอน 3 กลุ่ม เราได้สัมภาษณ์อาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์ในการใช้ AA
รูปที่ 1 ขั้นตอนและคุณลักษณะของ AA
ปรับปรุงจาก Bloom, Hutson, and He (2008)
ในการวิเคราะห์ข้อมูล เราพยายามระบุขั้นตอนและลักษณะของ AA ที่อาจารย์ที่ปรึกษานำมาใช้ในการประชุมกับครูฝึกสอน โดยทำการวิเคราะห์บันทึกของอาจารย์ที่ปรึกษาและบทสัมภาษณ์แบบเชิงปริมาณโดยการวิเคราะห์คำสำคัญด้วยวิธีการวิเคราะห์คลังข้อมูล ซึ่งการวิเคราะห์นี้จะให้คำและวลีที่พบมากในบันทึกเชิงสะท้อนคิดของอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ AA และวิธีตีความและนำหลักการนี้มาใช้ในการประชุมให้ความเห็นหลังการฝึกสอน การวิเคราะห์คำสำคัญแสดงให้เห็นว่าอาจารย์ที่ปรึกษาใช้ลักษณะหลายอย่างจาก AA แต่ไม่ได้ใช้ 2 ขั้นสุดท้ายคือ ‘Deliver’ และ ‘Don’t settle’ รูปที่ 2 สรุปไว้ว่าข้อมูลที่เก็บจากอาจารย์ที่ปรึกษาสัมพันธ์กับ 6 ขั้นตอนของ AA อย่างไรบ้าง
รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ของประเด็นหลักกับขั้นตอนของ AA
เพื่อศึกษาว่าทำไมอาจารย์ที่ปรึกษาจึงไม่ได้ใช้ 2 ขั้นตอนสุดท้าย เราจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์ประเด็นหลัก (thematic analysis) การวิเคราะห์นี้เน้นให้เห็นความท้าทายหลายอย่างที่อาจารย์ที่ปรึกษาต้องเจอในการใช้ทั้ง 6 ขั้นตอนของ AA ตัวอย่างเช่น เนื่องจากครูฝึกสอนเรียนเพียง 4 สัปดาห์ อาจารย์ที่ปรึกษามีเวลาพบครูฝึกสอนบางคนแค่ครั้งเดียว นั่นหมายความว่าเขาไม่สามารถทำตามทุกขั้นตอนของ AA จนครบได้ถึงแม้ว่าเขาจะสามารถทำตามขั้นตอนในระยะต้น ๆ ได้ดี อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีความท้าทายแต่จากข้อมูลพบว่าอาจารย์ที่ปรึกษามีความคิดในเชิงบวกเกี่ยวกับการใช้ AA และมั่นใจว่าการใช้หลักการนี้เป็นประโยชน์สำหรับครูฝึกสอน การศึกษานี้ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้หลักการการค้นหาจุดแข็งในการทำงานกับครูฝึกสอนถึงแม้จะนำมาใช้กับหลักสูตรการฝึกอบรมครูระยะสั้นก็ตาม
บทความนี้อิงข้อมูลจาก: Wenwen Tian & Stephen Louw (2020). It’s a win-win situation: Implementing appreciative advising in a pre-service teacher training programme, Reflective Practice, 21(3), 384-399. DOI: 10.1080/14623943.2020.1752167