The languaging curriculum TH

Home | The languaging curriculum

TH | EN

Richard Watson Todd

โดยทั่วไป การสอนภาษาอังกฤษมักมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถใช้ภาษาได้ถูกต้องตามหลักภาษา (หรือ standard norms) ซึ่งการสอนรูปแบบนี้ มักมองการใช้ภาษาที่ผิดไปจากหลักภาษาหรือ errors ว่าเป็นสิ่งที่ผิดและควรโดนทำโทษ วิธีการสอนแบบดั้งเดิมนี้ แทบจะไม่ก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อผู้เรียน ดังจะเห็นได้ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศไทย นั่นคือ ถึงแม้นักเรียนไทยส่วนใหญ่จะเรียนภาษาอังกฤษมาเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ปี แต่ผู้เรียนแทบจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลย ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ดีเท่าที่ควร ทั้งยังขาดความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษ จึงมักพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนมุมมองและลองทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหว 2 รูปแบบที่ช่วยให้เราเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลง ประการแรกคือ ภาษาอังกฤษในฐานะภาษากลางสำหรับการสื่อสาร (English as a lingua franca) ซึ่งพิจารณาว่า ในบริบทการใช้ภาษาจริง ๆ ความสามารถในการสื่อสารและสื่อความให้เข้าใจ สำคัญกว่าความถูกต้องตามหลักภาษามาก จึงกล่าวได้ว่าหัวใจของการสอนภาษาอังกฤษ ควรจะเน้นการสอนกลยุทธ์ในการใช้ภาษา (เช่น วิธีการหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ผิดพลาด) แทนที่จะเน้นไปที่เป้าหมายเดิม ๆ นั่นคือการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักภาษา ประการที่สอง ในแง่ของปรัชญาภาษาศาสตร์ แนวคิดเรื่อง languaging เน้นไปที่การใช้ภาษาเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงเป็นกระบวนการ (การใช้ภาษา) ไม่ใช่ผลผลิต

จากแนวความคิดดังกล่าว เราจึงเสนอหลักสูตร the languaging curriculum ซึ่งเน้นการเรียนรู้การใช้เครื่องมือและทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตจริงให้สำเร็จ ทั้งนี้ วิธีการสอนดังกล่าวเป็นสิ่งท้าทายต่อแนวปฏิบัติในการสอนภาษาอังกฤษที่เป็นที่ยอมรับกันมานาน ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตร languaging curriculum ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวของการใช้ภาษา ดังนั้น ผู้สอนต้องไม่ตัดสินการใช้ภาษาของผู้เรียน นอกจากนี้ แหล่งข้อมูลและทรัพยากรต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อทำสิ่งที่เขาต้องการก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (เช่น Google Translate) ดังนั้นผู้สอนควรสอนให้ผู้เรียนใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์แทนที่จะห้ามใช้

ในการออกแบบหลักสูตร languaging curriculum เราเริ่มต้นจากหลักการต่าง ๆ ดังนี้

  • การเน้นที่การทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาษาอังกฤษ มากกว่าการสอนเนื้อหาภาษาอังกฤษ
  • การเน้นที่การสื่อสารให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ความถูกต้องของตัวภาษา
  • การเน้นที่กลยุทธ์การใช้ภาษา ไม่ใช่รูปแบบภาษา
  • การเน้นที่การใช้ภาษาในชีวิตจริง ไม่ใช่การฝึกปฏิบัติในห้องเรียน
  • ไม่มีการตัดสินการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เรียน
  • หลักสูตรควรช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • หลักสูตรควรกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากใช้ภาษาอังกฤษในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • หลักสูตรควรช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงประโยชน์ของทรัพยากรที่มีอยู่สำหรับการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ
  • หลักสูตรควรให้การสนับสนุนเพื่อให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น

หลักการและทฤษฎีที่กล่าวข้างต้น ได้นำไปใช้ในวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิชาที่มีผู้เรียนที่มีทักษะทางภาษาที่แตกต่างกัน และเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการใช้ภาษาอังกฤษ วิชาดังกล่าวได้ออกแบบให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านงานอดิเรกของตนเอง ประกอบด้วย 3 ขั้นหลักในระยะเวลา 15 สัปดาห์ ดังนี้

ขั้นที่ 1: ผู้เรียนเรียนรู้เกี่ยวกับงานอดิเรกของตนเองจากการอ่านและการดูวิดีโอ

ขั้นที่ 2: ผู้เรียนสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเกี่ยวกับงานอดิเรกของตนเองผ่านเว็บไซต์ Reddit

ขั้นที่ 3: ผู้เรียนสร้างสรรค์วิดีโอเกี่ยวกับงานอดิเรกของตนเอง และอัปโหลดบน YouTube

ในวิชานี้ ถึงแม้ผู้เรียนแต่ละคนมีงานอดิเรกที่แตกต่างกัน จึงได้สัมผัสและใช้ภาษาต่างบริบทกัน แต่ผู้เรียนทั้งหมดได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลือในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาษาอังกฤษ อย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น มีการให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ Google Translate อย่างรอบคอบในการอ่านบทความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรกของตน นอกจากนี้ ยังมีการสอนให้ผู้เรียนได้ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์โพสต์ต่าง ๆ ในเว็บไซต์ Reddit ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ว่าโพสต์ที่ประสบความสำเร็จมีลักษณะการตั้งกระทู้อย่างไร รวมไปถึงการใช้เครื่องมือเพื่อหาคำที่เป็นประโยชน์ ที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้เพื่อตั้งกระทู้ของตนเองในเว็บไซต์ Reddit ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรรวมทั้งแผนการสอนและสื่อการสอนได้ที่ https://solatlc.wixsite.com/languaging/hobby-course

วิชานี้ได้ให้ผู้เรียนเขียน reflections จำนวนสองชิ้น โดยตัวอย่างคำพูดเหล่านี้ใน reflections ได้สะท้อนถึงผลที่เป็นรูปธรรมของวิชานี้

“วิชานี้แตกต่างจากวิชาอื่น ๆ เพราะเป็นการฝึกใช้ภาษาอังกฤษอย่างอิสระโดยไม่ต้องกลัวว่าจะใช้ภาษาผิด ซึ่งตอนแรกก็ไม่ชอบภาษาอังกฤษเลย แต่พอเรียนวิชานี้แล้วทำให้ชอบวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้น”

“ความแตกต่างระหว่างชั้นเรียนนี้กับชั้นเรียนอื่น ๆ คือ สามารถเลือกวิธีการเรียนภาษาอังกฤษจากสิ่งที่สนใจ การเรียนรู้ควรเริ่มจากความชอบหรือความอยากรู้อยากเห็น”

“ความกลัวที่จะผิดหลักไวยากรณ์เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนไทยกลัวที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งมันอาจจะเกิดจากห้องเรียนภาษาอังกฤษ เพราะครูมักพูดเสมอว่า ถ้าไวยากรณ์ผิดจะส่งผลต่อคะแนนของคุณ…‘ ชั้นเรียนนี้สามารถลบความกลัวนี้ออกจากใจของนักเรียนได้”

นอกจากนี้ หกเดือนหลังจากจบหลักสูตร ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังคงใช้ Reddit ในการสื่อสารภายในกลุ่มที่มีงานอดิเรกร่วมกัน

แนวคิดสำคัญของ the languaging curriculum ตามที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในวิชา hobby course ถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการสอนภาษาอังกฤษ ดังคำกล่าวของผู้เรียนคนหนึ่งว่า วิชานี้เป็น “จุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาในประเทศไทย” และอาจช่วยแก้ปัญหาความไม่ก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดเจนในการสอนภาษาอังกฤษแบบเดิม ๆ จากคำพูดของผู้เรียนที่ว่า “หลักสูตรนี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่พยายามเรียนภาษาอังกฤษแต่ไม่เคยพบวิธีที่ถูกต้องที่จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม”

บทความนี้อิงข้อมูลจาก Watson Todd, R. and Rangsarittikun, R. (2021) The hobby course: towards a languaging curriculum. ELT Journal.