อาเซียน ภาษาอังกฤษ กับการสอบ

หน้าหลัก | อาเซียน ภาษาอังกฤษ กับการสอบ

TH | EN

ริชาร์ด วัตสัน ทอดด์

เมื่อการรวมตัวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใกล้เข้ามาทุกที (อ้างอิงข้อมูลปี 2012) ความสำคัญของภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสื่อกลางภายในกลุ่มประเทศอาเซียนจึงยิ่งทวีคูณ แต่บทบาทที่เพิ่มขึ้นของภาษาอังกฤษนี้ ทำให้บางประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อาจต้องตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ

เมื่อพิจารณาจากด้านภาษาอังกฤษ เราอาจจะแบ่ง 10 ประเทศในอาเซียนได้เป็น 2 กลุ่ม ใน 4 ประเทศแรก ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการหรือเป็นภาษาที่ใช้ทั่วไปภายในประเทศอยู่แล้ว ส่วนในอีก 6 ประเทศ (กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม) มีภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ หรือมีการใช้จำกัดเฉพาะในมหาวิทยาลัย ธุรกิจขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น

ความแตกต่างของสถานะของภาษาอังกฤษนี้สะท้อนออกมาทางระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนในประเทศ ตัวอย่างเช่น จากระดับคะแนน TOEFL ชาวสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ย 99 ในขณะที่คนไทยมีคะแนนเฉลี่ย 74 และคนลาว 60 ในทำนองเดียวกันตามดัชนีความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ (English First English Proficiency Index) มาเลเซียได้รับการประเมินว่ามีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับสูง ในขณะที่อินโดนีเซียและไทยมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับต่ำมาก

ความแตกต่างทั้งในด้านสถานะและระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษนี้ชี้ให้เห็นว่าเราควรพิจารณาเรื่องความแตกต่างในแนวทางการศึกษาภาษาอังกฤษของทั้งสองกลุ่มนี้ด้วย วิธีหนึ่งที่จะบอกได้ว่ามีข้อแตกต่างดังกล่าวอยู่หรือไม่นั้น คือการศึกษาแนวทางการประเมินในประเทศต่างๆ เพราะจะสามารถสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของการศึกษาและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียนได้ดีกว่า เช่นการดูที่นโยบาย เป็นต้น

ในขณะที่เราอาจจะคิดว่ามีความแตกต่างในเรื่องการประเมินของแต่ละประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันในเกือบทุกประเทศในอาเซียนก็คือมีระบบการศึกษาแบบมีการสอบเป็นหลัก 8 ใน 10 ประเทศ (ยกเว้นกัมพูชาและพม่า) มีการสอบในระดับประเทศ ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็นการสอบแบบเดิมพันสูง (high-stakes exams) ที่ชี้ชะตาและมีผลต่อโอกาสต่างๆ ในอนาคตของผู้สอบเป็นอย่างมาก ที่เรารู้กันดีก็คือ ข้อสอบก่อนจบระดับประถมศึกษา และข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย  ถึงตอนนี้ ขอให้ผู้อ่านคิดเรื่องความเหมือนกันข้อนี้ไว้และเรากำลังจะมองที่แนวทางการประเมินผลภาษาอังกฤษของสิงคโปร์และไทยเมื่อยกทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นตัวแทนของ 2 กลุ่มประเทศ

สิงคโปร์ใช้การสอบสำคัญๆ ในการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม ให้นักเรียนได้รับโอกาสต่างๆ ตามความสามารถไม่ใช่จากพื้นฐานทางครอบครัว คะแนนการสอบจะมาจากองค์ประกอบที่หลากหลายเพื่อให้ผู้สอบได้แสดงความสามารถได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น ก่อนจบโรงเรียนประถมศึกษา คะแนนส่วนหนึ่งจะมาจากกิจกรรมที่ทำในห้องเรียน ในบรรดากิจกรรมต่างๆ การเขียนย่อหน้าและการสอบการสนทนาจะมีผลถึง 20% ของคะแนนทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาไปสู่การประเมินที่เรียกกันว่าการประเมินผลแบบองค์รวม ทั้งนี้เป็นการลดการอิงคะแนนจากการสอบเพียงอย่างเดียวโดยรวมคะแนนจากการกิจกรรมในชั้นเรียนด้วย สำหรับนักเรียนระดับประถม อาจรวมถึงคะแนนจากการแสดงบทบาทสมมติ กิจกรรมการเล่าเรื่อง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้นักเรียนจะต้องได้รับการสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมากพอๆกับในสิงคโปร์ก็ตาม แต่การสอบก็เป็นแบบเลือกตอบหรือแบบปรนัยทั้งนั้น นั่นหมายความว่าข้อสอบจะถูกจำกัดอยู่ที่ทักษะการอ่าน ไวยากรณ์และคำศัพท์ โดยที่การฟังการพูดและการเขียนจะถูกละเลยไปมาก รูปแบบการสอบนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะการสอบระดับประเทศเท่านั้น จากการสำรวจการประเมินผลภาษาอังกฤษของโรงเรียนมัธยมศึกษาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคะแนนมากกว่าครึ่งหนึ่งของคะแนนสอบที่ใช้ตัดเกรดในโรงเรียนก็มาจากการสอบแบบเลือกตอบเช่นกัน

ความแตกต่างเหล่านี้พบได้ในลักษณะเดียวกันระหว่าง 2 กลุ่มประเทศในอาเซียน ตัวอย่างเช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของมาเลเซียมีข้อสอบเขียนและข้อสอบพูด 2 ข้อ ในขณะที่การสอบระดับประเทศของอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นแบบเลือกตอบแทบทั้งนั้น ด้วยรูปแบบของความแตกต่างที่เราเห็นได้ชัดเจน เราจำเป็นต้องย้อนคิดว่าความแตกต่างนี้สำคัญหรือไม่

รูปแบบการสอบมีผลกระทบหลักๆ 2 ประการ คือ อิทธิพลต่อการรับรู้บทบาทของภาษาอังกฤษและต่อวิธีการสอนของครู การสอบแบบเลือกตอบหรือปรนัยนี้ เน้นที่ความรู้เกี่ยวกับภาษานั่นหมายถึงว่าภาษาอังกฤษถูกมองว่าเป็นวิชาหนึ่งที่เรียนเพื่อการสอบเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การสอนภาษาอังกฤษในลักษณะวิชาที่ต้องใช้ความจำเป็นหลัก ในทางกลับกัน รูปแบบการสอบที่เป็นแบบเปิดมากขึ้น เช่นการเขียนและการสนทนา เน้นการได้ใช้ภาษา ดังนั้นภาษาอังกฤษจะถือเป็นเครื่องมือไม่ใช่ชุดความรู้และการสอนเน้นที่การได้ใช้ภาษาทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างแท้จริง

ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างสถานะของภาษาอังกฤษในประเทศกับแนวทางการประเมินนั้นไม่ชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่าเพราะภาษาอังกฤษถูกใช้กันแพร่หลาย ทำให้การสอบเน้นไปที่การใช้ภาษา หรือเพราะมีการสอบที่เน้นการใช้ภาษาทำให้มีแนวโน้มว่าภาษาจะถูกใช้แพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหน สำหรับ 6 ประเทศที่ภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาต่างประเทศนั้น การเปลี่ยนแปลงลักษณะการสอบให้เป็นไปในทางส่งเสริมการใช้ภาษาจะมีประโยชน์มากทีเดียว แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ากระทรวงศึกษาธิการคิดจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ การเปลี่ยนแปลงแนวการสอบนี้ก็ยังง่ายกว่าเมื่อเทียบกับข้อเสนอเรื่องที่จะพัฒนาระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนในประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยน่าจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของมาเลเซียในการลดปัญหาในการดำเนินการ ถ้าระบบการประเมินได้รับการเปลี่ยนแปลง ในระยะยาวระดับความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษก็จะพัฒนาขึ้นเอง และทั้ง 6 ประเทศที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศก็จะอยู่ในจุดที่เสียเปรียบน้อยลงในกลุ่มประเทศอาเซียน

บทความนี้อ้างอิงจาก: Watson Todd, R. (2012) English language assessment practices in ASEAN. Proceedings of the 2012 International Conference “Cultural and Linguistic Diversity in ASEAN”, Bangkok, 22-23 August 2012, pp. 27-36. and Watson Todd, R. and Shih, C.-M. (2013) Assessing English in Southeast Asia. In Kunnan, A. J. (ed.) The Companion to Language Assessment. New York: Wiley.