งานเขียนที่คำว่า “ดี” ยังอธิบายได้ไม่พอ

หน้าหลัก | งานเขียนที่คำว่า “ดี” ยังอธิบายได้ไม่พอ

TH | EN

Stuart G. Towns

คุณพอจะจำช่วงเวลาในอดีตตอนที่พยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ผ่านการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากหลายชั่วโมงเป็นหลายเดือนหรือแม้แต่หลายปีได้หรือไม่ อาจเป็นตอนที่คุณเรียนรู้วิธีเล่นเปียโน เรียนรู้วิธีวาดภาพสีน้ำหรือเรียนรู้วิธีการสื่อสารในภาษาใหม่ เราทุกคนได้ผ่านกระบวนการเหล่านี้มาแล้วอย่างน้อยก็หนึ่งครั้งตอนที่เราเรียนภาษาแม่ครั้งยังเป็นเด็ก เราใช้เวลาหลายปีในการฝึกฝนเพื่อเรียนรู้ที่จะสื่อสารได้อย่างเชี่ยวชาญ

อย่างที่คุณอาจยังจำได้ในวัยเด็กตอนที่เรียนรู้ภาษาใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นภาษาแม่ ภาษาที่สองหรือภาษาที่สิบ) เราเริ่มต้นจากคำศัพท์และประโยคง่าย ๆ คุณอาจจะนึกถึงตอนที่เรียนรู้การอ่านจากการอ่านหนังสือ Dick and Jane ถ้าคุณเติบโตในสหรัฐอเมริกา หรือหนังสือมานะกับมานีถ้าคุณเติบโตในประเทศไทย หนังสือเหล่านี้จะมีรูปภาพกับข้อความสั้น ๆ ที่เข้าใจง่ายเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อคุณโตขึ้นและได้พัฒนาทักษะทางภาษา คุณก็สามารถอ่านและเขียนด้วยคำที่ซับซ้อนและโครงสร้างประโยคที่ซับซ้อนมากขึ้น คุณยังได้เรียนรู้วิธีการเชื่อมประโยคเข้าด้วยกันเพื่อสร้างย่อหน้าที่สอดคล้องกันและรวมย่อหน้าเหล่านั้น จนเป็นเรื่องราว เรียงความและรายงาน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความซับซ้อนในการใช้ภาษาขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เรามีความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษามากขึ้นก็ไม่ได้เป็นรูปแบบนั้นเสมอไป เพราะบางครั้งการใช้ประโยคซับซ้อนมากเกินไป การใช้คำศัพท์หายากและคำศัพท์ที่ถูกใช้น้อยในงานเขียนมากเกินไปจะทำให้งานเขียนนั้นอ่านไม่รู้เรื่อง ซึ่งคุณอาจจะลองนึกถึงเวลาที่อ่านสัญญาทางกฎหมายหรือบทความทางวิชาการที่ซับซ้อนจนไม่สามารถเข้าใจมันได้ง่าย ๆ

นั่นหมายความว่าความสามารถทางภาษาและความซับซ้อนของภาษาจะไปด้วยกัน แต่ก็จนถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อคนคนหนึ่งพัฒนาจนถึงระดับ “ชำนาญ” ซึ่งสามารถอ่านแบบแตกฉานได้เป็นส่วนใหญ่และเขียนรูปประโยคที่สมบูรณ์และถูกต้องทางไวยากรณ์แล้ว พวกเขาจะสามารถปรับปรุงต่ออย่างไรได้บ้าง พวกเขาจะกลายเป็นนักเขียนระดับโลกที่ได้รับรางวัลได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มความซับซ้อนของภาษาอย่างแน่นอน แต่ต้องมีอย่างอื่นที่นอกเหนือจากนี้

เพื่อค้นหาว่าอะไรคือ “อย่างอื่น” ที่ว่า เราได้ทำการวิเคราะห์งานเขียนที่เราถือว่าเป็นงานที่ “ยอดเยี่ยม” และเปรียบเทียบกับงานเขียนระดับ “เชี่ยวชาญ” สำหรับงานเขียนระดับยอดเยี่ยมเราได้รวบรวมบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ และได้รวบรวมบทวิจารณ์ภาพยนตร์ของภาพยนตร์เรื่องเดียวกันที่เขียนโดยบล็อกเกอร์ที่เขียนอย่าง “สม่ำเสมอ” บนอินเทอร์เน็ตเป็นตัวแทนงานเขียนของผู้เขียนระดับเชี่ยวชาญ

ผลการวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่าบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เขียนโดยผู้เขียนที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ไม่ได้มีความซับซ้อนของประโยคเพิ่มขึ้น แต่ที่เพิ่มขึ้นมาคือคำศัพท์ที่ซับซ้อนกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สุดระหว่างบทวิจารณ์ภาพยนตร์ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นเรื่องของความเชื่อมโยงของความคิดในบทวิจารณ์ การเชื่อมโยงความคิดที่อยู่ในงานเขียนมีหลายวิธีด้วยกัน วิธีที่ง่ายที่สุดคือการใช้คำเดิมซ้ำหรือใช้คำสรรพนามเพื่ออ้างถึงความคิดก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม มีวิธีการเชื่อมโยงความคิดขั้นสูงกว่านั้นคือการใช้คำพ้องความหมาย (synonyms) คำที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงสมาชิกแต่เป็นระดับที่กว้างกว่า (hypernyms) และใช้หลัก “ความสัมพันธ์ของคำ” แบบอื่น ๆ นั่นคือ การเชื่อมโยงความคิดเข้าด้วยกันโดยการใช้คำที่มีความหมายที่คล้ายหรือเกี่ยวข้องกัน

ในการศึกษาของเรานั้น บทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เขียนโดยบล็อกเกอร์ที่เขียนเป็นประจำมักพบการใช้คำซ้ำและคำสรรพนามเพื่อเชื่อมโยงแนวคิดระหว่างประโยค แต่ผู้เขียนระดับรางวัลพูลิตเซอร์มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการขั้นสูงในการเชื่อมความคิดโดยใช้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกันทางความหมาย ตัวอย่างเช่น ในบทวิจารณ์บทหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “Moonrise Kingdom” ย่อหน้าที่เปิดเรื่อง มีการใช้คำที่เกี่ยวข้องกันซึ่งเกี่ยวกับบ้าน (home, habitat, house, cozy, comfort, inside) ครอบครัว (family, mothers, nursery) และศิลปะ (handmadeartisanalartcreatebespokeproduction) ความสัมพันธ์เหล่านี้สื่อถึงบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและกระตุ้นความรู้สึกเกี่ยวกับบ้านของครอบครัว ในขณะที่ยังเน้นสุนทรีของผู้กำกับภาพยนตร์อีกด้วย

ดังนั้น เราทุกคนจะพัฒนาความสามารถในการเขียน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนในภาษาที่หนึ่งหรือสองของเราอย่างไรได้บ้าง จากข้อมูลข้างต้น สิ่งแรกที่เราควรทำคือพยายามใช้คำศัพท์ที่ซับซ้อนตามความเหมาะสม โดยสามารถพัฒนาได้จากการอ่านมาก ๆ และหลากหลายเพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ที่เราจะนำมาใช้ได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้น เราสามารถปรับปรุงการเขียนของเราเองโดยเน้นไปที่การเชื่อมโยงความคิดในงานเขียนด้วยการใช้คำศัพท์ที่มีความหมายคล้ายหรือที่เกี่ยวข้องกันมากกว่าแค่ใช้คำซ้ำหรือใช้สรรพนามเพื่ออ้างถึงความคิดก่อนหน้านั้น ด้วยวิธีนี้เราสามารถสร้างงานเขียนที่มีเนื้อหาที่สอดคล้อง มีรายละเอียดและสมบูรณ์ซึ่งสามารถช่วยเราสร้างความประทับใจต่อผู้อ่านได้

บทความนี้อ้างอิงจาก: Towns, S. G., & Watson Todd, R. (2019). Beyond proficiency: Linguistic features of exceptional writing. English Text Construction, 12(2), 265-289.