เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สังคมวิจัยระดับปริญญาเอก

หน้าหลัก | เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สังคมวิจัยระดับปริญญาเอก

TH | EN

Stephen Louw

การเรียนในระดับปริญญาเอกมีความแตกต่างหลายประการด้วยกันหากเทียบกับประสบการณ์การเรียนในระดับอื่นที่ผ่านมา นักศึกษาต้องเรียนรู้ด้วยตนเองแทนที่จะเรียนในห้องเรียน ต้องเขียนรายงานวิจัยที่ยาวมากแทนการสอบแบบตัวเลือก ต้องมีเป้าหมายสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวิจัยแทนการรับความรู้ที่ได้ถูกกำหนดไว้หมดแล้ว

ดังนั้นการเรียนปริญญาเอกไม่เพียงแต่จะเป็นการเรียนวิธีใหม่เท่านั้น แต่ยังสร้างเป้าหมายที่ท้าทายมากมายจนเหมือนจะไม่รู้จบ แต่เป้าหมายเหนือสิ่งอื่นใดของการเรียนปริญญาเอกก็คือการที่นักศึกษาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวิจัย ในการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ นักศึกษาต้องได้รับความรู้ในสาขาวิชาอย่างลึกซึ้ง ต้องพัฒนาความสามารถในด้านวิธีวิจัย และต้องเชี่ยวชาญในการเขียนงานวิจัย นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ด้านวิชาการเหล่านี้แล้ว นักศึกษายังต้องคิดและวางแผนเรื่องการเงิน ต้องจัดการและจัดระบบเวลา ต้องมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะนักวิจัยมากมาย อีกทั้งยังต้องจัดการกับความจำเป็นส่วนตัว (เช่น การรับมือกับวัฒนธรรมใหม่ ๆ หากเรียนปริญญาเอกในต่างประเทศ) แรงกดดันเหล่านี้ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกจำเป็นต้องอาศัยแรงจูงใจจากหัวข้อวิจัยที่พวกเขาเลือกอย่างมาก

แล้วนักศึกษาปริญญาเอกรับมือกับอุปสรรคและแรงกดดันมากมายเหล่านี้ได้อย่างไร โดยทั่วไปแล้ว นักศึกษาปริญญาเอกจะมีอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย และสามารถขอคำปรึกษาจากนักวิชาการคนอื่น ๆ (บุคลากรของคณะ) ในมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของหลักสูตรได้นั้น นักศึกษาอาจต้องมีเครือข่ายในวงกว้างกว่านั้นมาก ซึ่งอาจรวมถึงเพื่อนนักศึกษาปริญญาเอกที่เรียนด้วยกันหรือมีความสนใจร่วมกัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอื่น อดีตเพื่อนร่วมงาน เพื่อนและครอบครัว หรือแม้แต่บุคลากรฝ่ายเลขานุการของมหาวิทยาลัย

เพื่อหาคำตอบว่านักศึกษาใช้เครือข่ายทางสังคมอย่างไรในการบรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เราจึงสัมภาษณ์นักศึกษา 4 คนที่เรียนอยู่ในระยะที่แตกต่างกัน จากนั้นทำการสร้างแผนภาพเครือข่ายของนักศึกษาแต่ละคนขึ้นจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ แผนภาพนี้แสดงให้เห็นภาพรวมของเครือข่ายทางสังคมของนักศึกษาและวิธีการที่พวกเขาใช้เครือข่ายเหล่านี้รับมือกับสิ่งที่ต้องทำตามข้อกำหนดของหลักสูตร

เมื่อดูแผนภาพเครือข่ายของส้มและเดฟด้านล่าง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทั้งสองคนมีเครือข่ายทางสังคมแตกต่างกันอย่างไร ส้มเรียนรู้จากสังคมของเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เดฟเรียนรู้จากกลุ่มทางสังคมที่มีความหลากหลายอย่างเท่า ๆ กัน รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมนักวิชาการภายนอก นอกจากนี้ เรายังสังเกตเห็นความแตกต่างในความเชื่อมโยงระหว่างตัวนักศึกษากับกลุ่มทางสังคมของพวกเขาด้วย เช่น การปฏิสัมพันธ์ของส้มกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะเน้นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการวิจัย ขณะที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเดฟให้อินพุตของเนื้อหาที่หลากหลายกว่า

แผนภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคมวิจัยที่แตกต่างกันสำหรับนักศึกษาแต่ละคน ซึ่งต่างก็มีเครือข่ายที่มีลักษณะเฉพาะและใช้เครือข่ายด้วยวิธีการเฉพาะตัวในการจัดการกับความท้าทายเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในการเรียนได้ ความแตกต่างนี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหลักสูตรปริญญาเอกไม่ได้มีลักษณะแบบหลักสูตรเดียวเหมาะกับทุกคน (a ‘one-size-fits-all’ program) ที่นักศึกษาทุกคนจะต้องเดินตามแผนของผลลัพธ์ของการเรียนที่ได้วางไว้หมดแล้ว

นอกจากแสดงความแตกต่างที่เห็นได้ชัดแล้ว แผนภาพเครือข่ายยังสะท้อนสิ่งที่เหมือน ๆ กันที่น่าสนใจระหว่างนักศึกษาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น แผนภาพแสดงอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของเพื่อนร่วมชั้นเรียนซึ่งเป็นเหมือนแหล่งข้อมูลสำคัญของนักศึกษาปริญญาเอก ในแผนภาพเครือข่ายของนักศึกษาทั้ง 4 คน ปรากฏว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นเหมือนแรงสนับสนุนที่ดียิ่งกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งตรงข้ามกับความคิดที่มีมาตลอดว่าอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์คือแหล่งข้อมูลหลักในการเรียนรู้ของนักศึกษาปริญญาเอก แผนภาพเครือข่ายเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสมาชิกอื่นในเครือข่าย โดยเฉพาะเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากต่อความสำเร็จของนักศึกษาในการมีส่วนร่วมในสังคมวิจัย

บทความนี้อ้างอิงจาก Watson Todd, R. & Louw, S., 2019, Individual Networks of Practice for PhD Research Socialisation, Journal of University Teaching & Learning Practice, 16( 2). Available at:https://ro.uow.edu.au/jutlp/vol16/iss2/14