โรงเรียนไทยวัดผลวิชาภาษาอังกฤษกันอย่างไร?

ริชาร์ด วัตสัน ทอดด์

 

“การสอบและให้เกรดนักเรียนมีผลพวงอย่างมหาศาล เพราะสามารถกำหนดมหาวิทยาลัยที่นักเรียนจะเข้าศึกษาต่อ เปิดเส้นทางอาชีพ และรวมไปถึงดำรงรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขาได้”

 

คำกล่าวข้างต้นของ ริชาร์ด อาเร็นด์ แสดงให้เห็นว่าการวัดผลและการให้เกรดมีความสำคัญต่อนักเรียนมากเพียงใด   อย่างไรก็ตาม การรับรู้ของสังคมเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องวิธีการที่ครูไทยใช้ในการประเมินนักเรียนกลับอยู่ในระดับที่น้อยมาก รายงานขององค์การยูเนสโกเรื่องการศึกษาของไทยระบุไว้อย่างชัดเจนว่าข้อมูลเกี่ยวกับการวัดผลในโรงเรียนไทยมีน้อยมากจึงได้เรียกร้องให้มีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม

นอกเหนือจากผลกระทบที่ อารเร็นด์ ได้ระบุไว้ข้างต้น การวัดผลยังสามารถส่งผลต่อวิธีการสอนของครู ดังที่เรียกกันว่า ‘วอชแบค’ (washback) หรือ “แนวปฏิบัติที่ส่งผลกระทบ”  ตัวอย่างเช่น การวัดผลโดยใช้ข้อสอบแบบปรนัย ดังที่ใช้อยู่ในการทดสอบระดับชาติของไทย ทำให้ครูผู้สอนภาษาอังกฤษเน้นการสอนคำศัพท์ ไวยากรณ์และทักษะในเชิงรับสาร และละเลยทักษะในเชิงส่งสารรวมไปถึงทักษะการคิดระดับสูง ในทางกลับ กันการสอนลักษณะนี้ส่งผลให้นักเรียนเน้นการเรียนแบบท่องจำเพื่อให้สอบผ่าน แทนที่จะเน้นพัฒนาความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง   ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้คือ การวัดผลโดยใช้กระบวนการต่อเนื่อง เช่น แฟ้มสะสมงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมากกว่า เพราะช่วยให้ครูสามารถส่งเสริมทักษะระดับสูงและช่วยให้นักเรียนมุ่งพัฒนาตนเองได้มากขึ้น ดังนั้น ‘วอชแบค’ หรือ “แนวปฏิบัติที่ส่งผลกระทบ”  จึงสามารถเป็นได้ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบ

เพื่อให้เข้าใจถึงระดับของผลกระทบของการวัดผลที่มีต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทย  เราจำเป็นต้องศึกษาวิธีการวัดผลที่ครูใช้   ดังนั้น  คณะวิจัยฯ จึงทำการสำรวจโดยส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับวิธีวัดผลนักเรียนไปยังครูทั่วประเทศไทย และได้รับคำตอบจากครูจำนวน 320 คน (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://goo.gl/forms/TS72vPULq96 B3hFE2)

ผลการสำรวจพบว่า ครูทุกคนใช้การสอบปลายภาค และการวัดผลแบบต่อเนื่อง (คะแนนเก็บ)  นอกจากนี้ยังพบว่าครูส่วนใหญ่ใช้การสอบกลางภาคและการทดสอบย่อยในการวัดผลอีกด้วย  โดยมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยของคะแนนจากวิธีการวัดผลทั้ง 4 แบบในรายวิชาดังแสดงไว้ในแผนภูมิวงกลมด้านล่างนี้    ผลการสำรวจบ่งชี้ว่าข้อสอบส่วนมากเป็นข้อสอบแบบปรนัย  อย่างไรก็ตามข้อสอบแบบปรนัยนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 27% ของคะแนนทั้งหมดในรายวิชา ซึ่งหากมองในประเด็นนี้ อาจตีความได้ว่าผลกระทบในเชิงลบจาก ‘วอชแบค’ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนไทยอาจไม่รุนแรงเท่าที่เราคาดการณ์ไว้   ในทางกลับกัน หากพิจารณาจากภาพรวมของการวัดผลแบบปิดทั้งหมดที่นำมาใช้ (มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว) ซึ่งมีสัดส่วนของคะแนนเกือบ 60% ของคะแนนทั้งหมด ผลกระทบในเชิงลบจาก ‘วอชแบค’ ต่อโรงเรียนก็อาจมีอยู่บ้าง  และเมื่อย้อนกลับมาดูที่วิธีการวัดผลแบบก้าวหน้าหรือการวัดผลแบบต่อเนื่อง  พบว่าวิธีการที่ครูใช้อย่างแพร่หลายคือ การนำเสนองานของนักเรียน  (Presentation) และ การทำโครงงาน (Project) ซึ่งมีสัดส่วนคะแนนประมาณ 10 % ของรายวิชา

 

สัดส่วนแสดงวิธีการวัดผลแบบต่างๆในรายวิชาภาษาอังกฤษของโรงเรียนไทย

เมื่อพิจารณาตัวแปรด้านประเภทของโรงเรียนว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อวิธีการวัดผลของครูหรือไม่ คณะวิจัยฯ พบประเด็นที่น่าสนใจ 2 รูปแบบ ดังนี้   ประการที่หนึ่ง ครูในโรงเรียนมัธยมศึกษามีแนวโน้มที่จะเน้นที่การสอบปลายภาคมากกว่าครูในโรงเรียนประถมศึกษา แต่ก็ใช้ข้อสอบแบบปรนัยน้อยกว่า    ประการที่สอง ครูจากโรงเรียนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ให้สัดส่วนคะแนนสำหรับการสอบปลายภาคสูงกว่าครูจากโรงเรียนในต่างจังหวัด ในขณะที่ครูจากต่างจังหวัดใช้การวัดผลแบบต่อเนื่องมากกว่า

 

ในภาพรวม ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบแบบผสมผสานต่อการสอนวิชาภาษาอังกฤษในประเทศไทย ในแง่หนึ่งคะแนนส่วนมากมาจากการวัดผลแบบปิด เช่นการสอบและการทดสอบย่อย แต่ในทางกลับกันพบว่าอย่างน้อยที่สุดครูทุกคนก็มีการใช้การวัดผลแบบต่อเนื่องประเภทปลายเปิดอยู่บ้าง  ดังนั้นผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิธีการวัดผลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน น่าจะมาจากปัญหาเรื่องสมดุลของวิธีการวัดมากกว่าการที่ครูไทยละเลยหรือไม่ใช้วิธีการวัดผลแบบก้าวหน้า  การลงมือแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลนี้จะนำไปสู่อนาคตที่สดใสขึ้นสำหรับการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย

 

บทความนี้อิงข้อมูลจาก Watson Todd, R. (2019). How Is English Assessed at Thai Schools?. THAITESOL Journal, 32(1), 1-15.