จิตไร้สำนึกกับการตัดสินใจในเสี้ยววินาที

 

เมื่อใครก็ตามถามคุณตรงๆ เกี่ยวกับทัศนคติของคุณ คุณพูดตรงกับใจทุกครั้งหรือไม่

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้หลายคนไม่ได้พูดตรงกับใจทุกครั้งไป อาจเพราะกลัวหรืออายที่จะพูดความจริง เกรงใจและต้องการรักษาน้ำใจผู้ฟัง หรือแม้แต่ต้องการสร้างภาพให้ตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องยากจริงๆ ที่เราจะรู้ว่าแท้จริงแล้วเราคิดอย่างไร

แล็ปด้านจิตวิทยา จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ ได้สร้าง Implicit Association Test (IAT) เป็นเครื่องมือศึกษาบทบาทของจิตไร้สำนึกซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อและพฤติกรรมของเรา IAT ใช้หลักการสร้างความเชื่อมโยงที่รวดเร็วของความคิดที่เป็นคู่กันโดยไม่มีเวลาคิดตรึกตรอง ซึ่งก็คือ ‘จิตไร้สำนึก’ นั่นเอง เนื่องจากเราจะใช้เวลามากกว่าแม้เพียงชั่วพริบตาในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยหรือมีความขัดแย้งในใจ มีแบบทดสอบที่น่าสนใจมากมายบนเว็บไซต์ของ IAT (https://implicit.harvard.edu/implicit/) เช่น Asian IAT – ความรู้สึกต่อคนเอเชียและอเมริกัน ซึ่งจะบ่งบอกความเป็นชาตินิยม, Weight IAT – ทัศนคติต่อคนอ้วนกับคนผอม, Race IAT – ทัศนคติเกี่ยวกับเชื้อชาติและสีผิว, Gender-Career IAT – ความคิดเชื่อมโยงระหว่างเพศและหน้าที่การงาน ซึ่งคนจำนวนมากมักจะมีความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ชายกับการทำงานและผู้หญิงกับการเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว, Gender-Science IAT – ความคิดเชื่อมโยงระหว่างเพศกับวิทยาศาสตร์ เช่นความเชื่อมโยง ผู้หญิงกับศิลปศาสตร์และผู้ชายกับวิทยาศาสตร์

“ทัศนคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษาและอาจารย์ชาวไทย” เป็นงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ที่นำวิธีของ IAT มาใช้ ให้คุณลองทำแบบทดสอบด้านล่างบนกระดาษ โดยเขียนเครื่องหมายถูกด้านซ้ายหรือขวาของแต่ละคำให้ตรงกับหมวดหมู่ด้านบนที่คุณคิดว่าสัมพันธ์กันให้เร็วที่สุด

 

อาจารย์เจ้าของภาษา   อาจารย์ชาวไทย
 อาจารย์ไมเคิล
 อาจารย์ธีระเดช
อาจารย์โซเฟีย
 อาจารย์วิภาวรรณ
 อาจารย์จูเลีย

 

คุณสามารถทำได้อย่างรวดเร็วใช่ไหม นั่นเป็นเพราะจิตไร้สำนึกของคุณมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างชื่อของชาวต่างชาติกับชื่อของคนไทยอยู่ก่อนแล้ว นี่เป็นเพียงการสร้างความคุ้นเคยกับวิธีการของแบบทดสอบเท่านั้น

คราวนี้มาดูแบบจำลองของแบบทดสอบ IAT ซึ่งส่วนนี้จะมีการผสม 2 หมวดหมู่ ให้คุณทำแบบเดิม โดยเขียนเครื่องหมายถูกด้านซ้ายหรือขวาของแต่ละคำให้ตรงกับหมวดหมู่ที่คุณคิดว่าสัมพันธ์กัน ขอย้ำว่า ทำให้เร็วที่สุด

 

ส่วนที่ 1

อาจารย์เจ้าของภาษา หรือ   อาจารย์ชาวไทยหรือ
ทัศนคติเชิงบวก ทัศนคติเชิงลบ
 อาจารย์โซเฟีย
 อาจารย์ธีระเดช
 สร้างสรรค์
 เอื่อยเฉื่อย
 อาจารย์วิภาวรรณ
 อาจารย์จูเลีย
 เงียบขรึม
 อาจารย์โชคชัย

 

 

 

ทำแบบเดิมอีกครั้ง ในส่วนที่ 2

ส่วนที่ 2

อาจารย์เจ้าของภาษา หรือ   อาจารย์ชาวไทย หรือ
ทัศนคติเชิงลบ   ทัศนคติเชิงบวก
เอื่อยเฉื่อย
 สนุกสนาน
 อาจารย์โซเฟีย
 อาจารย์วิภาวรรณ
 อาจารย์จูเลีย
 รับฟังความคิดเห็น
เงียบขรึม
 อาจารย์โชคชัย
 สร้างสรรค์

 

คุณรู้สึกถึงความแตกต่างของความลื่นไหลในการจัดหมวดหมู่ของคำในส่วนที่ 1 กับส่วนที่ 2 หรือไม่ ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณสามารถทำได้รวดเร็วกว่าในส่วนที่ 1 เช่น ในการเลือกว่า “รับฟังความคิดเห็น” อยู่หมวด “ทัศนคติเชิงบวก” ที่จับคู่กับ “อาจารย์เจ้าของภาษา” แทนการจับคู่กับ “อาจารย์ชาวไทย” นั่นแสดงให้เห็นว่าจิตไร้สำนึกของคุณคุ้นเคยและมีความเชื่อมโยงระหว่างทัศนคติเชิงบวกกับอาจารย์เจ้าของภาษามากกว่าอาจารย์ชาวไทยที่อาจใช้เวลาตัดสินใจมากขึ้นแม้เพียงอีกเสี้ยววินาที

ในความเป็นจริงแล้วแบบทดสอบ IAT และแบบทดสอบของงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ทำบนกระดาษ แต่มีการออกแบบโปรแกรมที่ใช้งานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนของแบบสอบถามที่ใช้กันทั่วๆ ไปเพื่อทดสอบ explicit attitude และส่วน IAT เพื่อทดสอบ implicit attitude โดยแบบทดสอบของงานวิจัยชิ้นนี้มีคำอธิบายต่างๆ ในโปรแกรมเป็นภาษาไทย

กระบวนการเก็บข้อมูลของงานวิจัยชิ้นนี้เป็นไปตามมาตรฐานของงานวิจัยที่ใช้ IAT ผู้ตอบจะต้องจัดหมวดหมู่คำ คือชื่ออาจารย์กับทัศนคติเชิงบวกหรือเชิงลบซ้ำไปซ้ำมา และเวลาที่ใช้ในการจัดคำเข้าหมวดหมู่จะถูกบันทึกไว้ หากจับคู่คำเข้าหมวดหมู่ในส่วนที่ 1 เร็วกว่า (“อาจารย์เจ้าของภาษา” ที่คู่กับ “ทัศนคติเชิงบวก” และ “อาจารย์ชาวไทย” ที่คู่กับ “ทัศนคติเชิงลบ”) แสดงว่าผู้ทำแบบทดสอบมีทัศนคติต่ออาจารย์เจ้าของภาษาดีกว่า และหากจับคู่คำเข้าหมวดหมู่ในส่วนที่ 2 เร็วกว่า (“อาจารย์ชาวไทย” ที่คู่กับ “ทัศนคติเชิงบวก” และ “อาจารย์เจ้าของภาษา” ที่คู่กับ “ทัศนคติเชิงลบ”) แสดงว่า มีทัศนคติต่ออาจารย์คนไทยดีกว่า อีกนัยหนึ่งคำตอบจากวิธีนี้มาจากจิตไร้สำนึกนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูล explicit attitude (ความคิดที่เราเชื่อว่าเราคิดแบบนั้น) จากแบบสอบถามแบบเดิมเพื่อเปรียบเทียบกันอีกด้วย

งานวิจัย “ทัศนคติที่มีต่ออาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษาและอาจารย์ชาวไทย” เริ่มจากความคิด (ส่วนที่เป็น explicit attitude) ที่ว่าอาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษามักจะได้รับการยอมรับและเชื่อถือมากกว่าอาจารย์ชาวไทย ถึงแม้ในประเทศไทยมีสัดส่วนของอาจารย์ที่เป็นคนไทยสูงกว่า แต่ดูเหมือนว่าเกือบทุกสถานศึกษาจะมีการจ้างอาจารย์ที่เป็นเจ้าของภาษาอยู่ด้วย ดังนั้นการศึกษาทัศนคติที่มีต่ออาจารย์ที่เป็นเจ้าของภาษาและอาจารย์ชาวไทยจึงมีผลต่อนโยบายด้านการสอนภาษาอังกฤษ เช่นการจ้างอาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษที่เป็นชาวต่างชาติ

มาถึงส่วนของผลวิจัย คุณคิดว่านักศึกษามีทัศนคติต่ออาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษาและอาจารย์ชาวไทย (1) ที่ได้จากแบบสอบถามแบบเดิม (explicit attitude) เป็นอย่างไร และ (2) ที่ได้จาก IAT (implicit attitude) เป็นอย่างไร เหมือนกันหรือแตกต่างกันหรือไม่

ผลจากแบบสอบถามแสดงให้เห็นว่านักศึกษามีทัศนคติ (explicit attitude) ต่ออาจารย์เจ้าของภาษาดีกว่าอาจารย์คนไทย แต่ผลจาก IAT (implicit attitude) แสดงให้เห็นว่าจากส่วนจิตไร้สำนึกนั้นนักศึกษามีทัศนติต่ออาจารย์เจ้าของภาษาและอาจารย์คนไทยไม่แตกต่างกัน และหากความคิดในใจมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรม คำตอบนี้น่าจะช่วยชี้ให้เห็นว่านักศึกษาจะปฏิบัติตนไม่แตกต่างกันเลยถึงแม้จะเรียนกับอาจารย์เจ้าของภาษาหรืออาจารย์คนไทยก็ตาม ทุกวันนี้ทัศนคติที่สะท้อนจากสังคมมักจะคล้อยตามทัศนติจากการบอกเล่ามากกว่าทัศนคติจากจิตไร้สำนึก ผลวิจัยนี้น่าจะช่วยให้เราได้ย้อนคิดเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่ออาจารย์บ้างไม่มากก็น้อย อาจารย์มีคุณภาพหรือไม่นั้น น่าจะพิจารณาเป็นรายบุคคลไปแทนที่จะตัดสินจากความเป็นเจ้าของภาษา

บทความนี้อ้างอิงจาก Watson Todd, R. and Pojanapunya, P. (2009). Implicit attitudes towards native and non-native speaker teachers.  System Vol. 37 Issue 1 pp. 23 – 33.