เรื่องของขนาดชั้นเรียน …ใหญ่แค่ไหนคือใหญ่เกิน

ริชาร์ด วัตสัน ทอดด์

 

ในด้านการศึกษา ขนาดชั้นเรียนเป็นเรื่องน่าห่วง พวกเราในฐานะครูคงจะคิดฝันว่าอยากจะสอนห้องเรียนที่มีนักเรียนสักแค่ 12 คน ซึ่งเป็นขนาดเล็กพอที่ทุกคนในห้องจะได้รับความเอาใจใส่ แต่ก็ใหญ่พอที่จะช่วยให้ทุกคนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ แต่ในความเป็นจริง ข้อจำกัดในทางปฏิบัติและค่าใช้จ่ายทำให้การมีนักเรียนห้องละ 40, 60 หรือแม้แต่ 100 คน คล้ายกับเป็นบรรทัดฐานไปแล้วก็ว่าได้ ห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมากส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ คำถามที่เกิดขึ้นคือขนาดชั้นเรียนใหญ่แค่ไหนที่จะมีผลกระทบให้การเรียนรู้แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด

 

ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งๆที่คำถามนี้สำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่ผ่านมา ไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาผลเสียของขนาดชั้นเรียนต่อการเรียนรู้ในชั้นเรียนภาษาต่างประเทศ เช่น ชั้นเรียนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเลย งานวิจัยส่วนมากจะสนใจความเชื่อและความคิดเห็นของครูต่อขนาดชั้นเรียน และระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลให้การเรียนรู้ลดลงได้ ชั้นเรียนใหญ่มักมีปัญหาด้านระเบียบวินัย อีกทั้งครูยังพบว่าเป็นการยากที่จะสร้างสัมพันธ์กับนักเรียน ส่วนนักเรียนก็ได้รับโอกาสในการพูดแสดงความคิดเห็นลดลง ได้รับความเอาใจใส่จากครูลดลง และได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานของตัวเองจากครูลดลง แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการเรียนรู้ แต่เราก็ไม่รู้แน่ชัดว่าจำนวนนักเรียนเท่าไรที่จะทำให้ผลกระทบนี้สะท้อนออกมาจนเห็นได้ชัดเจน

 

เพื่อค้นหาคำตอบเรื่องนี้ เราสามารถใช้ข้อมูลเกรดของนักศึกษาทุกคนที่เคยเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทั้ง 4 วิชา ตลอด 4 ปี ซึ่งมีชั้นเรียนรวมทั้งสิ้น 984 ชั้นเรียน มีจำนวนนักศึกษาแตกต่างกันตั้งแต่ 10 ถึง 103 คน เฉลี่ย 36 คนต่อห้อง แม้ว่าเกรดจะไม่ได้สะท้อนระดับการเรียนรู้อย่างแท้จริง แต่ก็เป็นข้อมูลการวัดที่เรานำมาใช้ได้เมื่อศึกษากับนักศึกษาจำนวนมาก

 

เพื่อดูว่าขนาดชั้นเรียนมีผลหรือไม่ เราสามารถดูได้จากความสัมพันธ์ระหว่างขนาดชั้นเรียนที่นักศึกษาเรียนและเกรดที่ได้ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดชั้นเรียนกับเกรดของนักศึกษาจำนวนสามหมื่นเศษพบว่าขนาดชั้นเรียนแปรผกผันกับเกรด (r = -0.126; p < 0.001) นั่นหมายความว่ายิ่งขนาดชั้นเรียนใหญ่ เกรดของนักศึกษาจะต่ำลงอย่างสัมพันธ์กัน และเพื่อตรวจสอบว่าความแตกต่างของเกรดเป็นผลจากขนาดชั้นเรียนจริงๆ (มากกว่าที่จะเป็นเพราะสาเหตุอื่น เช่น วิชาเอกของนักศึกษา)  เราสามารถศึกษาได้จากเกรดของนักศึกษาที่เคยเรียนในชั้นเรียนที่มีขนาดต่างๆกัน ตัวอย่างเช่น นักศึกษาคนหนึ่งได้เกรด B+ ในวิชาที่เรียนในห้องเรียน 31 คน แต่ในห้องที่มี 83 คน นักศึกษาคนนี้ได้เกรด C หลังจากนั้นเขาเรียนในห้องเรียน 75 คน และได้ C+ จากการศึกษากับนักศึกษากลุ่มที่ได้เรียนในชั้นเรียนที่มีจำนวนนักศึกษาแตกต่างกันนี้ ยังคงให้ผลความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกันและยังเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย (r = -0.222; p < 0.001) ซึ่งช่วยยืนยันว่าขนาดชั้นเรียนมีผลในทางลบกับเกรดจริงๆ

 

ความสัมพันธ์แบบผกผันนี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่คำถามที่น่าสนใจคือมีจำนวนนักศึกษาในชั้นเรียนจำนวนใดจำนวนหนึ่งหรือไม่ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การเรียนรู้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพื่อค้นหาคำตอบนี้ เราสามารถศึกษาได้จากค่าเฉลี่ยเกรดของนักศึกษาจากชั้นเรียนขนาดแตกต่างกัน กล่าวคือในจุดที่เกรดต่ำลงอย่างชัดเจนเมื่อขนาดชั้นเรียนใหญ่ขึ้น เราจะสามารถระบุจุดตัดของขนาดชั้นเรียนที่จะบ่งชี้ว่าถ้ามีจำนวนนักศึกษามากกว่านี้แล้วนักศึกษาจะได้เรียนรู้ลดลง ในชั้นเรียนที่มีนักศึกษา 16-20 คน ค่าเฉลี่ยของเกรดคือ 2.89 ชั้นเรียน 21-25 คน ค่าเฉลี่ยของเกรดคือ 2.88 และชั้นเรียน 26-30 คน ค่าเฉลี่ยเกรดคือ 2.73 จากข้อมูลนี้ ขนาดชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้นจาก 16-20 คน เป็น 21-25 คนต่อห้อง แทบจะไม่มีผลกระทบต่อเกรดเลย แต่เมื่อเพิ่มเป็น 26-30 คน จะเราเห็นว่าเกรดลดลงอย่างชัดเจน  สำหรับชั้นเรียน 31-35 คน และ 36-40 คน ค่าเฉลี่ยของเกรดคือ 2.77 และ 2.71 ซึ่งแสดงเกรดที่ค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับชั้นเรียน 26-30 คน แต่เมื่อขนาดชั้นเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 46 คน พบค่าเฉลี่ยเกรดลดดิ่งลงเป็น 2.13 เราจะเห็นว่ามีขนาดชั้นเรียนที่เป็นจุดเปลี่ยนอยู่ 2 จุด คือขนาดชั้นเรียนไม่ค่อยมีผลกระทบกับเกรดในชั้นเรียนที่มีนักศึกษาไม่เกิน 25 คน แต่เมื่อมีนักศึกษามากกว่า 25 คน เกรดจะลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด และเกรดจะค่อนข้างคงที่ในชั้นเรียนขนาด 26-45 คน แต่จะต่ำลงอย่างมากเมื่อขนาดชั้นเรียนใหญ่กว่านั้น

 

ผลศึกษานี้มีประโยชน์ต่อการพิจารณาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารในมหาวิทยาลัย และอาจรวมถึงการศึกษาในระดับอื่นด้วย โดยหลักการแล้วชั้นเรียนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยควรจะมีนักศึกษาไม่เกิน 25 คน ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปได้เสมอไป ในบริบทที่ใช้หลักการนี้ไม่ได้จริงๆ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในชั้นเรียนหนึ่งไม่ควรมีนักศึกษามากกว่า 45 คน และเพื่อประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของนักศึกษา การตั้งข้อกำหนดเรื่องขนาดชั้นเรียนที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้ของวิชาภาษาอังกฤษให้อยู่ที่ 45 คนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ

 

บทความนี้อิงข้อมูลจาก: Watson Todd, R. (2012) The effects of class size on English learning at a Thai university. ELT Research Journal, 1(1), 80-88.